ม.ราชภัฏสวนสุนันทา มุ่งพัฒนาท้องถิ่น ลุยแม่กลอง เปิด ตลาดในสวน เพิ่มศักยภาพชุมชน เดินหน้าเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และบริการวิชาการชั้นนำ มุ่งพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ม.ราชภัฏสวนสุนันทา นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากมหาลัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน หวังยกระดับรายได้ครัวเรือน จับมือ 7 หน่วยงานจัดกิจกรรม ตลาดในสวน ณ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม สร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒน์ พลอยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การพัฒนาท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คือการบริการทางวิชากาสู่ชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเติมเต็มผลิตภัณฑ์หรือภูมิปัญญาเดิมที่ชุมชนมีอยู่ อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเพื่อจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ได้แก่ ชุมชน ประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ โดยได้มาดำเนินการที่ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ซึ่งเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและสินค้าเกษตรที่หลากหลายเดิมของชุมชน ได้แก่ ผ้ามัดย้อมจากใบลิ้นจี่พันธุ์ค่อม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และมหาวิทยาลัยฯ ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และงานวิจัยเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับชุมชนและเกษตรกร เช่น ยาหม่องพริกบางช้าง สบู่เหลวล้างมือพริกบางช้าง กระดาษจากก้านกุหลาบและจากกล้วยในท้องถิ่น กล้วยลอยแก้ว เป็นต้น
อีกทั้งช่วยส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน โดยการจัดกิจกรรม ตลาดในสวน ขึ้นเป็นปีแรก ณ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนนอก ภายในงานนอกจากมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดประกวดปลูกพริกบางช้าง กิจกรรม Workshop ทำพิมเสนน้ำ เพ้นท์สีธรรมชาติบนกระเป๋าผ้า และนิทรรศการให้ความรู้เรื่องพริกบางช้างและแหนแดง เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไปได้เข้าชม ช่วยกระตุ้นการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้คนในชุมชนทุกวัยและก่อเกิดรายได้ไปพร้อมกัน ประชาชนในท้องถิ่นจะเกิดการตระหนักรู้ในคุณค่าของท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัยและพร้อมจะช่วยกันต่อยอดพัฒนาอาชีพของตนต่อไปในอนาคต สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนตามจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยฯผศ.ดร.วัฒน์ กล่าว
ในจังหวัดสมุทรสงครามเรามีของดีประจำถิ่นหลากหลาย นอกจากกล้วยและพริกบางช้าง ยังมีลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ส้มโอขาวใหญ่ เกลือสมุทร ปลาทูแม่กลอง เป็นต้น การได้รับความรู้ การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และการช่วยเหลือส่งเสริมจากหน่วยงานการส่งเสริมการเกษตร สวทช. และธนาคารออมสิน มาช่วยเติมเต็มการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน ทำให้สมาชิกเกษตรกรทุกเพศ ทุกวัย เกิดความมั่นใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พร้อมจะพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญคือเกิดความรักหวงแหนภูมิปัญญาบ้านเกิดตนเอง ตรงนี้จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง
ท้จริง