กรมชลฯจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาพัฒนาฯ คลองบางไผ่และสาขา มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงน้ำ รองรับการเติบโตศูนย์ธุรกิจ EECในอนาคต
กรมชลประทานจัดประชุมปัจฉิมนิเทศนำเสนอผลการศึกษาโครงการพัฒนาฯคลองบางไผ่และสาขา เพื่อสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนร่วมนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงทางน้ำและแหล่งเก็บกักน้้ำรองรับการเติบโตศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
นายขจร ใบพลูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมชลประทาน เป็นประธานการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดอาคารกักเก็บน้ำในลำน้ำคลองบางไผ่และสาขา ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 จ.ชลบุรี โดยมีนายจักรรินทร์ ทัศนา ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 9กล่าวรายงานจากนั้นตัวแทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ปรึกษาโครงการนำเสนอสรุปข้อมูลแผนหลักการพัฒนาโครงการฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นผู้นำชุมชนตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกันแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะแนวทางต่างๆ เพื่อให้นำไปสู่การดำเนินการได้จริงและตรงกับความต้องการของพื้นที่จากนั้นช่วงบ่ายได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามดูงานออกแบบรายละเอียดอาคารกักเก็บน้ำในลำน้ำคลองบางไผ่และสาขา ต.ห้วยใหญ่อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
นายขจร ใบพลูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมชลประทาน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดอาคารกักเก็บน้ำในลำน้ำคลองบางไผ่และสาขาฯในครั้งนี้ว่าเพื่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลการศึกษาโครงการและข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อาทิ แนวทางการศึกษาโครงการ ขอบเขตการศึกษาให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งต้องการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการฯตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อการศึกษาและผลการศึกษาให้เกิดการยอมรับต่อผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่และสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอันจะนำไปสู้การนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับ โครงการดังกล่าว กรมชลประทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำโครงการศึกษาฯ เพื่อทบทวนศักยภาพของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่โครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาคลองบางไผ่และสาขา เพื่อการเก็บกักน้ำการระบายน้ำ และการใช้ประโยชน์เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาหาข้อมูลเพื่อออกแบบรายละเอียดเพื่อใช้ในการก่อสร้างและจัดทำเอกสารประกวดราคาของโครงการฯ นั้น
ทั้งนี้ ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าได้และใกล้จะดำเนินการแล้วเสร็จ ในระหว่างระยะเวลาของการดำเนินโครงการได้มีการจัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและจัดประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วม เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับนำมาจัดทำเป็นรายงานสรุปผลการศึกษาต่อไป
นายขจร กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการด้วยว่า เนื่องด้วยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้พัฒนาและขับเคลื่อนโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ตามมติ ครม. ซึ่งในระยะแรกจะพัฒนาพื้นที่ประมาณ 5,800 ไร่ ผลการศึกษาได้มีการออกแบบเบื้องต้นในการพัฒนาทางน้ำธรรมชาติ (คลองบางไผ่และสาขา) ในลักษณะการปรับปรุงทางน้ำและแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นระบบระบายน้ำหลักและป้องกันการเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่ม 2 ฝั่งลำน้ำ รวมทั้ง ให้มีการใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำหลากอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่โครงการ
โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดอาคารกักเก็บน้ำในลำน้ำคลองบางไผ่และสาขาถือเป็นโครงการนำร่องในการบริหารจัดการน้ำผ่านการประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solution: NbS)ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ซึ่งมีแผนเริ่มดำเนินงานเป็นระยะแรก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำ รวมทั้งเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมโดยการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งอาจเป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและอาคารกักเก็บน้ำด้านท้ายอ่างฯ ที่สามารถกักเก็บน้ำต้นทุนได้ประมาณ 2.34 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ศึกษาแนวทางการออกแบบองค์ประกอบโครงการทางด้านสถาปัตยกรรมสีเขียว หรือ Green Design ได้แก่ การเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แหล่งน้ำทั้งในและนอกพื้นที่ศึกษาเข้าด้วยกันมีอาคารศูนย์การจัดประชุม นันทนาการ และกีฬา ให้สอดคล้องกับแผนดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และเป็นโครงข่ายที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเชิงฟังก์ชันการบริหารจัดการน้ำ นันทนาการ และเชิงนิเวศ เป็นต้น