“กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดกิจกรรมวันสหกรณ์แห่งชาติ ปี 2567 ครบรอบ 108 ปี การสหกรณ์ไทยมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนงานพัฒนาส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน”
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ครบรอบ 108 ปี การสหกรณ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ " พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย"
วันนี้ (26 ก.พ. 67) นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดสักการะพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2567 และพิธีอ่านสารนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยมี นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประวัติ แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสันทาน สีสา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 126 และบริเวณลานพระอนุสาวรีย์พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพหานคร
โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้กล่าวสดุดีพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ว่า ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงมีคุณูปการต่อระบบสหกรณ์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์พ้นจากภาวะหนี้สิน มีทุนในการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่พอมีพอกิน ก่อให้เกิดผลดีในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ที่ควรค่าต่อการน้อมรำลึกถึง จึงทรงได้รับการยกย่องจากขบวนการสหกรณ์ไทยว่าทรงเป็น พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ประกอบกับวันนี้เป็นโอกาสครบรอบ 108 ปี สหกรณ์ไทย เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึง พระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน พวกเราจึงมาชุมนุมกันเพื่อแสดงออกถึงพลังความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของขบวนการสหกรณ์ไทย จึงขอตั้งปณิธานว่า จะมุ่งมั่นในการพัฒนาส่งเสริมสหกรณ์ ด้วยนวัตกรรมและหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการจัดตั้ง ตลอดจนพัฒนาการบริหารจัดการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสหกรณ์อย่างมีคุณภาพ เที่ยงตรง โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในระบบสหกรณ์ ให้มีสมรรถนะสูงในการสร้างสรรค์ พัฒนาสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง และมีความยั่งยืน อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศชาติโดยรวมสืบไป
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ (พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันสหกรณ์แห่งชาติ รัฐและขบวนการสหกรณ์ไทยได้ร่วมจัดงาน "วันสหกรณ์แห่งชาติ" ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด "สหกรณ์" พระองค์ท่านไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจดทะเบียนเท่านั้น แต่เป็น "พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย" ทรงส่งเสริมให้มีการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ไปทั่วประเทศ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศสืบเนื่องมาโดยตลอด จนครบ 108 ปี สหกรณ์ไทยในวันนี้
ปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศมากกว่า 6,300 แห่ง สมาชิก 11 ล้านครัวเรือน มีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมมากถึง 4 ล้านล้านบาท มีการแบ่งประเภทสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท คือ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์ การแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ มุ่งเน้นไปในเรื่องของการแก้ไขปัญหาคุณภาพหนี้ การจัดที่ดินทำกินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ รวมทั้งการสร้างอาชีพสร้างรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด พร้อมเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิก สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสหกรณ์ ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทั้งบุคลากรของสหกรณ์และบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมผลักดันให้สหกรณ์ต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการ โดยยึดหลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้
กรมฯ มุ่งให้คนทั้งมวลในระบบสหกรณ์เติบโตไปด้วยกัน มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกัน มีความเป็นอยู่เป็นชนชั้นเดียวกันมีความใกล้เคียงกัน ต้องการให้ทุกคนเดินไปด้วยกันด้วยระบบสหกรณ์ สหกรณ์จะเข้มแข้งก็ด้วยกำลังของสมาชิกทั้งมวล โดยมีภาครัฐ คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ให้การสนับสนุน ให้การเสริมสร้างการดำเนินงานของสหกรณ์เพื่อความเข้มแข็งของสหกรณ์ไทย นายวิศิษฐ์ กล่าว