บขส. เตรียมปิดพื้นที่ขาเข้า สถานีขนส่งหมอชิต 2 ทั้งหมด ให้รถโดยสารทุกคันใช้พื้นที่ขาออก รับ-ส่งผู้โดยสาร เริ่ม 1 มีนาคมนี้ !!! หวังยกระดับการให้บริการ เน้นความปลอดภัย แก้ปัญหาวินเถื่อน
นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 ว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ บขส. พัฒนาและปรับปรุงสถานีขนส่งหมอชิต 2 ให้พร้อมบริการประชาชน ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ บขส. จึงได้เดินหน้าพัฒนาสถานีขนส่งฯ โดยปรับปรุงและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ร้านค้า, ศูนย์อาหาร, ห้องน้ำ, ลิฟต์โดยสาร, เก้าอี้พักคอย, ไฟส่องสว่าง เป็นต้น ส่วนด้านความปลอดภัย บขส. ได้ทดลองปิดพื้นที่ขาเข้าในช่วงเวลา 20.00 04.00 น. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้รถโดยสารทุกคันจอดส่งผู้โดยสารในพื้นที่ขาออก ซึ่งจากการทดลองเดินรถฯ พบว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาวินผิดกฎหมาย และปัญหาอื่นๆ บริเวณพื้นที่ขาเข้าได้ ซึ่งส่งผลดีกับผู้ใช้บริการ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต 2 มีประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการให้บริการ และความปลอดภัยในการเข้าใช้สถานีฯ บขส. จึงเตรียมปิดพื้นที่ขาเข้าทั้งหมดเป็นการถาวร และให้รถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 2 (กทม.-ต่างจังหวัด) ทั้งรถ บขส. และรถร่วมฯ ทุกคัน ใช้พื้นที่ขาออก จอดส่งผู้โดยสารบริเวณชานชาลาที่ 1 (ชานชาลาติดกับอาคารสถานีฯ) ช่องจอดที่ 112 130 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยพื้นที่ขาเข้า จะใช้เป็นพื้นที่สำรองวินสำหรับรถโดยสารเท่านั้น
เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน โดยได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก, ติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามจุดต่างๆ และได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), ผู้ประกอบการรถแท็กซี่, รถรับจ้าง จัดรถโดยสาร มาอำนวยความสะดวกประชาชนที่ต้องการจะเดินทางต่อ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเลือกเดินทางต่อรถเมล์ที่ด้านหน้า หรือที่อู่ ขสมก. ด้านทิศใต้ของสถานีขนส่งฯ รวมทั้งได้จัดจุดให้บริการรถแท็กซี่, รถรับจ้าง ที่บริเวณลานจอดรถชั้น 1 และยังคงจัดการเดินรถ Feeder ตามนโยบาย Quick Win โดยรถโดยสาร บขส. (ขาเข้า) ทุกคัน จะจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนที่จะเข้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟ รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน รถเมล์ ขสมก. ได้สะดวกเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ บขส. และรถร่วมฯ จำหน่ายตั๋ว 1 ที่นั่ง ต่อ 1 เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือกรณีผู้โดยสารต่างชาติ ให้ใช้เลขหนังสือเดินทาง เพื่อสิทธิ์คุ้มครองประกันภัย และทำให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้รถโดยสารขาออก เข้าจอดรับผู้โดยสารก่อนเวลารถออกไม่เกิน 20 นาที และให้ออกตามเวลาที่กำหนด เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงขอความร่วมมือผู้โดยสารขึ้นรถตรงเวลาที่ระบุในตั๋ว สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ บขส. Call Center 1490 หรือที่ผู้ประกอบการรถร่วมฯ โดยตรง