กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการใน 51 จังหวัด 899 โรงเรียน หน่วยงานต่าง ๆ ได้สนองพระราชดำริและขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 2569 เพื่อเชื่อมต่องานการพัฒนาที่ผ่านมาเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับ�การเตรียมพร้อมและสามารถก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 2564) (ฉบับเดิม) ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 2569 ประกอบด้วย 8 เป้าหมายหลัก ดังนี้ 1) เสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา 2) เพิ่มโอกาสทางการศึกษา 3) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางวิชาการและทางจริยธรรม 4) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการงานอาชีพ 5) ปลูกฝังจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น 7) ขยายผลการพัฒนาจากโรงเรียน�สู่ชุมชน และ พัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้
ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร มีภารกิจที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อน 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการงานอาชีพ และ เป้าหมายที่ 7 ขยายผลการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ประกอบด้วย การเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และทักษะพื้นฐานทางการเกษตรยั่งยืนในการผลิตอาหารเพื่อการบริโภค มีความรู้และทักษะพื้นฐานทางด้านอาชีพที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างน้อย 1 อาชีพ และได้รับการพัฒนาศักยภาพตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ จากนั้นขยายผลการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยการนำกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรในโรงเรียนมาสู่การผลิตอาหารในระดับครัวเรือน เด็กและเยาวชนและสมาชิกในครอบครัว มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ และเด็กและเยาวชนสามารถนำความรู้และทักษะในการเรียนรู้วิชาชีพที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต การบัญชี มาใช้ในครอบครัว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้เริ่มดำเนินการ ในโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ให้มีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดช่วงการศึกษา และให้นักเรียนได้รับความรู้ด้านการเกษตร เกิดทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตร และสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต
ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนองพระราชดำริ ดำเนินงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการใน 51 จังหวัด 798 โรงเรียน ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับครู นักเรียน และผู้ปกครอง จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในหลักสูตรการผลิตพืช การขยายพันธุ์พืช การผลิตและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน และการแปรรูปถนอมอาหาร และจัดทำแปลงผลิตพืชในโรงเรียน จำนวน 798 โรงเรียน ดำเนินการวางแผนการผลิตพืช จัดทำแปลงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ฝึกปฏิบัติ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความต้องการของโรงเรียน รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ขยายผลองค์ความรู้การพัฒนาจากโรงเรียนสู่ระดับครัวเรือนของหมู่บ้านที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตั้งอยู่ จำนวน 222 หมู่บ้าน และขยายผลองค์ความรู้โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีความตั้งใจนำองค์ความรู้จากโรงเรียนไปขยายผลสู่ชุมชน จัดทำแผนความต้องการของเกษตรกรและสนับสนุนปัจจัยการผลิต ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตรผสมผสาน และการนำผลผลิตมาแปรรูปถนอมอาหาร เกิดผลสัมฤทธิ์ทำให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง มีความรู้ด้านการเกษตร สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม โรงเรียนมีผลผลิตที่หลากหลาย มีความต่อเนื่อง และสม่ำเสมอตลอดปี สามารถนำมาประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับนักเรียนได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ โรงเรียนยังเป็นต้นแบบขยายผลองค์ความรู้สู่หมู่บ้านและชุมชน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ลดรายจ่าย และพัฒนาเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในครัวเรือน